วันพฤหัสบดีที่ 17 กันยายน พ.ศ. 2558

วันขอลูกศาลเจ้าพ่อเสือเสาชิงช้า - วันไหว้สิงโต (จับโหงวแม้)

วันไหว้สิงโต (จับโหงวแม้)
การขอบุตรนั้น ครอบครัวชาวจีนที่ยังไม่มีลูก ต้องการอยากมีมาก ๆ ก็จะไปขอลูกที่ "ตั่วเล่าเอี๊ย" หรือศาลเจ้าพ่อเสือในคืนวันที่ 15 ค่ำ เดือน 1 (ตามปฏิทินจีน) ชาวจีนเรียกพิธีนี้ว่า "จับโหงวแม้" (แปลว่า "คืนวันที่ ๑๕ ค่ำ")

ปฏิทินจีน ปี 2558 ตรงกับวันที่ 5 มีนาคม 2558
ปฏิทินจีน ปี 2559 ตรงกับวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2559
ปฏิทินจีน ปี 2560 ตรงกับวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2560

โดยวันที่เป็นฤกษ์นั้น ทางศาลเจ้าพ่อเสือเปิดให้ไหว้ ตั้งแต่ 06.00-24.00น.
ภาษาจีนจะเรียกกันว่าวัน หงวนเซียวบ้าง จับโหง้วแม้บ้าง (ปฏิทินจีนก็เห็นระบุว่า ไหว้เทศกาลชาวนา, วันจับโหงว)  วันจับโหงแม้นี้ หมายถึง คืนที่พระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกในรอบปีหลังผ่านพ้นวันตรุษจีน ตรงกับวันที่ 15 เดือนอ้ายในปฏิทินจันทรคติจีน เป็นวันที่เชื่อกันว่าไม่ว่าจะขอพรใดๆ องค์เทพเจ้าและสวรรค์ก็เมตตาให้สำเร็จสมหวัง ไม่ว่าจะเป็นการขอลูก ขอพรเรื่องการค้าขาย การเงิน การงาน และสุขภาพ

โดยมีคนสนใจเรื่องการไหว้ขอพรกันเป็นจำนวนมาก ทางเพจจึงขอนำคำถามที่มีผู้ถามกันเข้ามาเยอะๆมานำเสนอครับ

ถาม: เตรียมของไหว้ยังไงต้องมีอะไรพิเศษหรือไม่

ตอบ: ทางศาลเจ้าจะมีธูปเทียน กระดาษไหว้ ชุดปัดตัวปีชง น้ำมันเติมตะเกียงจำหน่ายเพื่ออำนวยความสะดวก แต่ไม่ว่าท่านจะมาหาเอาที่ศาลหรือเตรียมมาจากบ้าน หรือจากที่ไหนได้ทั้งนั้นเลยครับตามสะดวก ในวันดังกล่าวลูกศิษย์ทั้งหลายจะมาเพื่อขอบูชาสิงโตน้ำตาล เจดีย์น้ำตาล สิงโตถั่ว แล้วแต่จะต้องการขอพรเรื่องไหน ก็สามารถบูชาได้จากทางศาลเจ้าเช่นเดียวกัน แต่ถ้าสิ่งที่ทางศาลเจ้าไม่มี แล้วถ้าท่านอยากมาไหว้เพิ่ม เช่น หมูสามชั้น ไข่ไก่ และพวงมาลัย สามารถจัดหามากันเอง (ส่วนส้มมงคลนั้น ทางศาลเจ้ามีจำหน่ายด้านใน บริเวณที่ให้เช่าสิงโตน้ำตาลเป็นกรณีพิเศษ เฉพาะวันไหว้สิงโตสองวันนี้เท่านั้น)

ถาม: สิงโตถั่วกับสิงโตน้ำตาล ต่างกันอย่างไร

ตอบ: อันนี้เป็นข้อมูลความเชื่อหลายอายุคนจากผู้ที่ดูแลศาลเจ้านะครับ อ่านแล้วพิจารณาตามได้ สิงโตถั่วทำมาจากธัญญาพืชซึ่งหมายถึง ความอุดมสมบูรณ์ เจริญงอกงาม แตกกิ่งก้านสาขา คนจีนเรานั้นทำอะไรแฝงด้วยความหมายเสมอ การไหว้ขอลูก ทางศาลเจ้าจึงแนะนำให้ใช้สิงโตถั่ว ส่วนสิงโตน้ำตาลใช้ขอพรเรื่องการงาน การค้า อำนาจ บารมี และบริวาร (สามารถใช้ขอลูกได้เช่นกัน แต่สิงโตถั่วจะให้ความหมายที่ดีกว่า สามารถเลือกเพศได้ และเห็นผลมากกว่า) ทั้งสิงโตน้ำตาลและสิงโตถั่วเช่าเป็นคู่ครับ ใครจะว่าเหมือนหรือต่างกันอย่างไรไม่ทราบ ที่แนะนำไป แนะนำจากความเชื่อของคนในศาลโดยตรง จากที่สังเกตุมาหลายปี ยังไม่เคยเห็นลูกศิษย์ท่านไหนที่มาขอการค้าเช่าสิงโตถั่วครับ แต่สิงโตน้ำตาลเนี่ยมันมาเหมือนกันครับ แค่ข้อสองข้อนี้ คงพอตัดสินใจกันได้นะครับว่าสะดวกแบบไหน แต่แอดมินเชื่อมากๆว่า ขอเพียงท่านมาด้วยใจศรัทธา มาด้วยสติ เชื่อว่าวันดีๆเช่นนี้ ความพยายามของทุกท่านตัองสำเร็จผล
สิงโตถั่วตัด ขนาดตัวละ 10ชั่ง(หรือ 6 กิโลกรัม) ราคา คู่ละ 2,700 บาท
ภาพประกอบจากร้าน ร้านขนมเปี๊ยะง่วนฮะเซ้ง (facebook)
เจดีย์น้ำตาล

 ถาม: ขอลูกนั้นขอได้วันเดียวหรือไม่

ตอบ: หงวนเซียว หรือ จับโหงวแม้ คือ คืนที่พระจันทร์เต็มดวงครั้งแรกในรอบปีหลังผ่านพ้นตรุษจีน ตรงกับวันที่ 15 เดือนอ้ายในปฏิทินจันทรคติจีน เป็นวันที่เชื่อกันว่าไม่ว่าจะขอพรใดๆ องค์เทพเจ้าและสวรรค์ก็เมตตาให้คนที่ศรัธธาสำเร็จสมหวัง ซึ่งมีเพียงวันเดียวในรอบหนึ่งปีเท่านั้น จึงขอสรุปว่า วันอื่นๆสามารถมาขอพร ขอลูกได้ครับ แต่วันจับโหงวแม้ เป็นวันที่มีฤกษ์ดีที่สุด และตรงกับความเชื่อตั้งแต่โบราณ ทำให้มีโอกาสสำเร็จมากที่สุด และเป็นวันเดียวที่มีการไหว้สิงโตน้ำตาล สิงโตถั่ว และเจดีย์น้ำตาล

ถาม:สิงโตต้องขโมยไหม ส้มขโมย ไหมถึงจะสำเร็จ

ตอบ: ลัทธิเต๋าและศาสนาพุทธนั้น มีคำสอนสอดคล้องกลมกลืนกันมานาน นั่นคือการขโมยถือเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นการผิดศีลข้อสองไม่แนะนำครับ(ผิดกฏหมายด้วย) ลองคิดกันดูนะครับลูกที่ได้จากการขโมยเนี่ยจะเป็นคนแบบไหน และหากส้มที่ขโมยมาเป็นส้มของคนปีชง คนมีเคราะห์นำมาสะเดาะเคราะห์ ส้มขอพรเรื่องป่วยไข้ ซึ่งคุณไม่ทราบแน่ว่าส้ม หรือสิงโตที่วางอยู่เค้าอธิษฐานไว้อย่างไร ตอนหยิบมันง่ายครับแต่ต้องมานั่งแก้ภายหลังมันไม่ง่ายนะครับ แล้วคำว่าขโมยนี่มันจากไหน มันเป็นคำพูดแก้เคล็ดครับ ความจริงไม่ใช่การขโมยแต่คนไม่รู้ได้ยินมาก็นำมาเล่าต่อ สอนต่อกันไป อันนี้ยกตัวอย่างจากผู้รู้นะครับ

คติความเชื่อ

" ในการ ขอทุน (เงินขวัญถุง) ,การขอลูกโดยจะไป ขอเงินขวัญถุง

(คนรุ่นเก่าใช้คำว่ายืม) หรือไปขอลูกโดยไปบูชา(สมัยก่อนใช้คำว่า"ขโมย"เป็นเคล็ด)


ตัวอย่างข้อความที่ยกมาเห็นได้ว่าคำว่า "ยืม" หรือ " ขโมย" เป็นคำที่เป็นเคล็ดเท่านั้น ไม่ได้ทำจริงๆ

สิ่งที่ทางแอดมิน และเจ้าหน้าที่ศาลเจ้าอยากฝากไว้นะครับ: การมาไหว้ขอพรการค้า หน้าที่การงาน หรือการขอลูก นอกจากการมาสักการะสิ่งศักดิ์สิทธิ์แล้ว ทุกๆท่านพึงกระทำความดี ละเว้นความชั่ว หมั่นสร้างบุญกุศลอยู่สม่ำเสมอด้วย อย่างการขอลูกนั้น เด็กที่มาเกิดโดยการไหว้ขอพรจากเทพเจ้า อย่างตั่วเหล่าเอี้ยกงหรือเทพองค์อื่นๆ ล้วนมาจากที่สูงทั้งสิ้น ถ้าเค้าเห็นว่าพ่อแม่ ครอบครัวที่เค้าจะลงมาเกิดด้วย ไม่สร้างความดีเลย เอาแต่สร้างกรรมชั่ว เด็กๆเหล่านี้ก็คงจะไม่เลือกที่จะมาเกิดด้วยแน่นอน แต่ในทางกลับกัน ถ้าเค้าพบเห็นว่าพ่อแม่สร้างแต่กรรมดี สร้างบุญกุศล ขยันหมั่นเพียรในหน้าที่การงาน เด็กๆเหล่านี้ย่อมอยากลงมาเกิดในครอบครัวนี้แน่นอน

สุดท้ายที่สำคัญนะครับเราไม่ควรขออย่างเดียวเราต้องปฎิบัติเองด้วย เหมือนเช่นคำสอนของเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี) " บุญเราไม่เคยสร้างใครที่ไหนจะมาช่วยเจ้า
ลูกเอ๋ย ก่อนจะไปเที่ยวขอบารมีหลวงพ่อองค์ใด เจ้าจะต้องมีทุนของตัวเอง คือบารมีของตนลงทุนไปก่อน เมื่อบารมีของเจ้าไม่พอ จึงค่อยขอยืมบารมีคนอื่นมาช่วย มิฉะนั้นเจ้าจะเอาตัวไม่รอด เพราะหนี้สินบุญบารมีที่เที่ยวไปขอยืมมาจนพ้นตัวเมื่อทำบุญทำกุศลได้บารมีมา ก็ต้องเอาไปผ่อนใช้หนี้เขาจนหมด ไม่มีอะไรเหลือติดตัว แล้วเจ้าจะมีอะไรไว้ในภพหน้า หมั่นสร้างบารมีไว้ แล้วฟ้าดินจะช่วยเอง...
จงจำไว้นะ.. เมื่อยังไม่ถึงเวลาเทพเจ้าองค์ใดจะคิดช่วยเจ้าไม่ได้... ครั้นถึงเวลา ทั่วฟ้าจบดิน ก็ต้านเจ้าไม่อยู่ จงอย่าไปเร่งเทวดาฟ้าดินเมื่อบุญเราไม่เคยสร้างไว้เลย จะมีใครที่ไหนมาช่วยเจ้า... "
นี่คือ คำเทศนา ของเจ้าประคุณ สมเด็จพระพุฒาจารย์ (โต พรหมรังสี)

คัดลอกมาจาก facebook page ศาลเจ้าพ่อเสือ มีการแก้ไขคำเล็กน้อย

วันจันทร์ที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2558

ภาษีป้าย

ป้ายที่ต้องเสียภาษี ได้แก่
1.  ป้ายแสดงชื่อ ยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้า หรือประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ หรือโฆษณาการค้า หรือกิจการอื่นเพื่อหารายได้ ไม่ว่าจะได้แสดงหรือโฆษณาไว้ที่วัตถุใด ๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึกหรือทำให้ปรากฎด้วยวิธีอื่น
2. ไม่เป็นป้ายที่ได้รับการยกเว้นภาษีป้าย
ป้ายที่ไม่ต้องเสียภาษี
1. ป้ายที่แสดงไว้ ณ โรงมหรสพและบริเวณของโรงมหรสพนั้นเพื่อโฆษณามหรสพ
2. ป้ายที่แสดงไว้ที่สินค้าหรือสิ่งที่ห่อหุ้มหรือบรรจุสินค้า
3. ป้ายที่แสดงไว้บริเวณงานที่จัดขึ้นเป็นครั้งคราว
4. ป้ายที่แสดงไว้ที่คนหรือสัตว์
5. ป้ายที่แสดงไว้ภายในอาคารที่ใช้ประกอบการค้าหรือประกอบกิจการอื่นหรือภายในอาคารซึ่งเป็นที่รโหฐาน
ทั้งนี้เพื่อหารายได้และแต่ละป้ายมีพื้นที่ไม่เกิน 3 ตารางเมตรที่กำหนดในกฎกระทรวง
แต่ไม่รวมถึงป้ายตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนพาณิชย์
6. ป้ายของราชการส่วนกลาง ราชการส่วนภูมิภาคหรือราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย ว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน
7. ป้ายขององค์การที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งองค์การของรัฐบาลหรือตามกฎหมายว่าด้วยการนั้นๆ และหน่วยงานที่นำรายได้ส่งรัฐ
8. ป้ายของธนาคารแห่งประเทศไทย ธนาคารออมสิน ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารเพื่อการสหกรณ์และบรรษัทเงินทุนอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย
9. ป้ายของโรงเรียนเอกชน ตามกฎหมายว่าด้วยโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนที่แสดงไว้ ณ อาคารหรือบริเวณของโรงเรียนเอกชนหรือสถาบันอุดมศึกษาเอกชนนั้น
10. ป้ายของผู้ประกอบการเกษตรซึ่งค้าผลผลิตอันเกิดจากการเกษตรของตน
11. ป้ายของวัดหรือผู้ดำเนินกิจการเพื่อประโยชน์แก่การศาสนาหรือการกุศลสาธารณะโดยเฉพาะ
12. ป้ายของสมาคมหรือมูลนิธิ
13. ป้ายตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
   ปัจจุบันมีกฎกระทรวงฉบับที่ 2 (พ.ศ.2535) ให้เจ้าของป้ายไม่ต้องเสียภาษีป้าย สำหรับ
   13.1 ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่รถยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยานยนต์ รถบดถนน หรือรถแทรกเตอร์ ตามกฎหมายว่าด้วยรถยนต์
   13.2 ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ล้อเลื่อนตามกฎหมายว่าด้วยล้อเลื่อน
   13.3 ป้ายที่ติดตั้งหรือแสดงไว้ที่ยานพาหนะนอกเหนือจาก 13.1 และ 13.2 โดยมีพื้นที่ไม่เกินห้าร้อยตารางเซนติเมตร
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย
1. เจ้าของป้าย
แต่ในกรณีไม่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภ.ป.1) สำหรับป้ายใดเมื่อ เจ้าหน้าที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายนั้นได้ ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษี ถ้าไม่ อาจหาตัวผู้ครอบครองป้ายนั้นได้ให้ถือว้าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคาร หรือที่ดินที่ป้ายนั้นติดตั้ง หรือแสดงอยู่เป็นผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายตามลำดับและให้พนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมินภาษีเป็น หนังสือไปยังบุคคลดังกล่าว
2. ผู้ครอบครองป้าย(กรณีไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายได้)
หลักฐานที่ใช้ประกอบการเสียภาษีป้าย
เพื่อความสะดวกในการเสียภาษี ควรนำหลักฐานประกอบการยื่นแบบ (ภ.ป.1) เท่าที่จำเป็นได้แก่
1. กรณีป้ายที่ติดตั้งใหม่
   - บัตรประจำตัวประชาชน
   - สำเนาทะเบียนบ้าน
   - ใบอนุญาตติดตั้งป้ายหรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย ฯลฯ
2. กรณีป้ายรายเก่าที่เคยยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีป้ายไว้แล้วควรนำใบเสร็จรับเงินค่าภาษีป้ายครั้งก่อน มาแสดงด้วย
การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี
     การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษี ผู้เป็นเจ้าของป้ายหรือผู้ครอบครองป้ายจะต้องยื่นแบบ ภ.ป. 1 ภายในวันที่ 31 มีนาคมของทุกปี กรณีที่ติดตั้งป้ายใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงข้อความของป้ายใหม่ จะต้องยื่นแบบ ภ.ป. 1 ภายใน 15 วัน แนบแต่วันที่ติดตั้งใหม่ หรือเปลี่ยนแปลงข้อความของป้ายใหม่
การคำนวณพื้นที่แยกเป็น
1. ป้ายที่มีขอบเขตกำหนดได้
   - ส่วนที่กว้างที่สุด คูณ ส่วนที่ยาวที่สุดของขอบเขตป้าย
2. ป้ายที่ไม่มีขอบเขตกำหนดได้
   - ถือตัวอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่อยู่ริมสุดเป็นขอบเขตเพื่อกำหนดส่วนที่กว้างที่สุด คูณ ส่วนที่ยาวที่สุด
3. คำนวณพื้นที่เป็นตารางเซนติเมตร
อัตราค่าภาษีป้าย
ภาษีป้ายประเภทข้อความป้ายที่มีอัตราภาษี
1อักษรไทย3 บาท/500 ตร.ซม.
2อักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศหรือกปนกับภาพและเครื่องหมายอื่น20 บาท/500 ตร.ซม.
3(ก) ไม่มีอักษรไทย ไม่ว่าจะมีภาพหรือเครื่องหมายใด ๆ หรือไม่
(ข) มีอักษรไทย บางส่วนหรือทั้งหมด อยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
40 บาท/500 ตร.ซม.

***หมายเหตุ ป้ายตามประเภท 1,2 หรือ 3 เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้วถ้ามีอัตราที่ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้าย 200 บาท ให้เสียภาษีป้ายละ 200 บาท

การไม่ยื่นแบบและชำระภาษีภายในกำหนด
– ผู้เป็นเจ้าของป้ายรายใดไม่ยื่นแบบภายในกำหนดจะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 10 ของค่าภาษี
– ผู้เป็นเจ้าของป้ายรายใดไม่ชำระเงินค่าภาษีภายในกำหนด จะต้องเสียเงินเพิ่มอีกร้อยละ 2 ของค่าภาษี
การชำระภาษีป้าย
1. เจ้าของป้ายหรือผู้ครอบครองป้ายที่มีหน้าที่เสียภาษีป้ายยื่นแบบแสดงรายการ (ภ.ป.1) ภายในเดือนมีนาคมของทุกปี
2. ในกรณีที่ติดตั้งหรือแสดงป้ายภายหลังเดือนมีนาคม หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขป้าย ให้เจ้าของป้ายยื่นแบบแสดงรายการ ภาษีป้ายภายใน 15 วัน นับแต่วันติดตั้งหรือแสดงป้าย หรือนับแต่วันเปลี่ยนแปลงแก้ไขแล้ว
3. การชำระค่าภาษี ชำระทันทีในวันที่ยื่นแบบแสดงรายการเสียภาษี หรือภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน(ภป.3) มิฉะนั้นจะต้องเสียเงินเพิ่ม
บทกำหนดโทษ
ผู้ใดรู้อยู่แล้วหรือจงใจแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับ 5,000 – 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ผู้ใดไม่แจ้งการรับโอนป้ายและแสดงหลักฐานการเสียภาษีป้ายไว้ ณ ที่เปิดเผยในสถานประกอบการต้องต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 -10,000 บาท
การอุทธรณ์การประเมิน
ต้องยื่นอุทธรณ์การประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่น ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับการแจ้งประเมิน
การขอคืนเงินภาษีป้าย
ผู้ที่เสียภาษีป้าย โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือเสียเกินกว่าที่ควรจะต้องเสียผู้นั้นมีสิทธิขอรับเงินคืน ภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เสียภาษีป้าย