วันอังคารที่ 24 ตุลาคม พ.ศ. 2560

PU Foam

สืบเนื่องมาจากไม่มีความรู้เรื่อง Foam เลย , ได้รับเงื่อนไขให้ผลิตโซฟาที่ใช้ HDF Foam และ ก็ไม่แน่ใจว่ามันคืออะไร จึงเริ่มหาข้อมูล
สรุปว่าสิ่งที่ต้องการน่าจะหมายถึง High Density (PU-Polyurethane) Foam หรือ ฟองน้ำสังเคราะห์ที่มีความหนาแน่นสูงๆ

PU Foam คือ อะไร

สาคเคมีชนิดหนึ่งที่มีลักษณะของเนื้อโพลิเมอร์ ความหนาแน่นต่ำ
ผลิตจากโพลิอีเทอร์ (Polyether) และ ไดไอโซไซยาเนต (Di-Isocyanate) โดยมีน้ำและแคตทาลิสต์ (ตัวเร่งปฏิกิริยา) เช่น แอมีน และ ออร์แกโนทิน ทำให้มีแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เกิดขึ้นและแทรกอยู่ในเนื้อของโพลิเมอร์ระหว่างโพลิเมอไรเซชัน บางครั้งใช้แก๊ส หรือ วัสดุระเหยง่ายชนิดอื่นเป็นโบลว์วิ่งเอเจรต์ (Blowing Agent) แบ่งออกเป็น 2 ชนิด คือ Flexible Foam และ Rigid Foam 

Flexible P.U. Foam
เป็น PU Foam ชนิดนิ่มที่สามารถคืนตัวได้ คือ สามารถกลับสภาพเดิมได้เมื่อเกิดแรงกดทับหรือกระทำให้ผิดรูปร่าง โดยผลิตจากโพลิออกซิโพรพิลีนไดออล
มีน้ำหนักเบา และ สามารถขึ้นรูปได้ในระหว่างที่โฟมกำลังอยู่ในกระบวนการเซ็ตตัว
หากเซ็ตตัวขึ้นรูปไปแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงรูปแบบได้อีก หรือ ถ้าเกิดการเปลี่ยนแปลงจากการกระทำต่างๆเช่น การกดทับ บีบ กระแทก ก็จะคืนตัวสู่สภาพเดิม โดยทั่วไปนิยมนำไปใช้ทำเฟอร์นิเจอร์ เบาะรองนั่ง เก้าอี้นวม ไปจนถึงเบาะรองนอนที่นอน

Rigid Foam
เป็น PU Foam ชนิดแข็ง ซึ่งผลิตได้จากโพลิอีเทอร์ที่ได้จาก ซอร์บิทอล เมทิลกลูโคไซด์ หรือ ซูโครส ทำให้มีดีกรีของการครอสลิงสูง Rigid Foam จึงมีความแข็งแรงมากกว่า Flexible Foam ในแง่ของโครงสร้าง มีความต้านทานต่อแรงกดดันสูง จึงใช้ทำโครงสร้างของส่วนที่ต้องการน้ำหนักเบา เช่น บริเวณลำตัวของเครื่องบิน เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีคุณสมบัติในการนำความร้อนต่ำ จึงนิยมใช้สำหรับการเป็นฉนวนกันความร้อน

เปรียบเทียบโพลียูรีเทนกับวัสดุอื่นๆ เช่น ยาง พลาสติก

-ความแข็ง จะอยู่ในช่วงกว้าง สามารถผลิตได้หลากหลาย โดยจะให้นิ่มเหมือนยางลบหรือให้แข็งเหมือนลูกกอล์ฟก็สามาร
-ความทนต่อแรงขัด จะทนต่อแรงขัดได้ดี เมื่อเทียบกับ ยาง พลาสติก ลดปัญหาการสึกกร่อน
-ความทนต่อแรงดึง จะทนต่อแรงดึงได้ดี จะมีค่าเฉพาะที่ใช้ทดสอบอยู่ 3ลักษณะ คือ Elongation,Tensile Strength,Tear Strength ถ้าค่าผลทดสอบยิ่งสูง จะมีความเหนียวมาก
-ความยืดหยุ่น จะความยืดหยุ่นมากกว่า ยาง พลาสติก
-ความทนต่อการแตกร้าว จะทนต่อการงอซ้ำๆ ได้ดี แต่สำหรับ ยาง พลาสติก จะหักและเปราะง่ายกว่า
-ความร้อนที่รับได้ สามารถทนความร้อนได้สูงและไม่เกิดการรุกไหม้ อุณหภูมิโดยประมาณ 100-120องศา ส่วนใหญ่ใช้ในวงการรถยนต์และเฟอร์นิเจอร์
-ความทนต่อการแช่น้ำ จะทนต่อจากการแช่น้ำได้ดีกว่า ยางและพลาสติก
-ฉนวน จะมีคุณสมบัติการเป็นฉนวนได้ดีกว่า ยาง พลาสติก ส่วนใหญ่นำไปใช้ในงานเกี่ยวกับอุปกรณ์ไฟฟ้า อิเล็กทรอนิกส์
-ความทนทานต่อสารเคมี จะความทนทานต่อการกัดกร่อนของสารเคมีอย่างกว้างขวาง ในขณะที่ ยาง พลาสติก จะมีความทนทานต่อสารเคมีเฉพาะบางประเภท
-ความทนต่อไฟ จะมีสารพิเศษที่มีคุณสมบัติในการขัดขวางเปลวไฟ ฟองน้ำจึงไม่ลามไฟ
-เชื้อรา แบคทีเรีย จะไม่ใช่วัสดุที่ช่วยในการก่อตัวของเชื้อรา จึงปลอดภัยต่อการทำไปใช้ในครัวเรือน
-เสียงและการสั่งสะเทือน จะสามารถใช้สำหรับกันเสียง และไปใช้ในงานป้องกันการสั่นสะเทือน ได้เป็นอย่างดี

ประวัติความเป็นมาของ PU Foam
โพลียูรีเทน (Polyurethane,PU)
  • จุดกำเนิดเกิดจากนักวิทยาศาสตร์ชาวเยอรมัน ชือ Otto Bayer ชาวเยอรมันในปี 1937 ค้นพบ Flexible Foam ครั้งแรกในช่วงสงครามโลกครั้งที่สอง และใช้ในทางการค้าในปี 1954 
  • สามารถสกัด สาร Toluene Di-Isocyanate(TDI) และ Polyester Polyols ที่เป็นสารตั้งต้น เพื่อใช้ทดแทนยางธรรมชาติ การผลิตกระดาษ การผลิตก๊าซมัสตาร์ด ผ้าที่มีความทนทาน เคลือบผิวเครื่องบิน เคลือบโลหะ ไม้ และอิฐ เพื่อป้องกันการกัดกร่อนและสารเคมี 
  • ในปี 1956  DuPont แนะนำสาร Polyether Polyols ซึ่งถูกกว่า, จัดการได้ง่าย และ ทนต่อน้ำมากกว่า Polyester Poyols
  • โพลียูรีเทนผลิตจากปฏิกิริยาของโพลีออลกับไดไอโซไซยาเนตหรือโพลีเมอริก ไอโซไซยาเนต โดยมีตัวเร่งปฏิกิริยาที่เหมาะสม 
  • โพลียูรีเทนส่วนใหญ่เป็นพลาสติกชนิดเทอร์โมเซ็ต คือ ไม่สามารถหลอมเหลวและขึ้นรูปใหม่ได้ ซึ่งผลิตออกมาหลายรูปแบบได้แก่ เป็นโฟมยืดหยุ่น โฟมแข็ง สารเคลือบป้องกันสารเคมี กาว สารผนึก และอีลาสโตเมอร์


การใช้งาน PU Foam
  • กลุ่มงานเฟอร์นิเจอร์ เช่น ที่นอน เบาะนั่ง หมอน โซฟา
  • กลุ่มลามิเนต (งานวัสดุเคลือบพื้นผิว) เช่น ฟองน้ำเคลือบผ้าใช้ในงานต่างๆ
  • กลุ่มยานยนต์ เช่น เบาะนั่ง ที่บังแดด โครงหลังคา ประตู และ ชิ้นส่วนเล็กภายในรถยนต์
  • กลุ่มอุปโภค เครื่องใช้ต่างๆ เช่น รองเท้า กระเป๋า ฟองน้ำล้างรถ ฟองน้ำล้างจาน ชุดชั้นในสตรี
  • กลุ่มบรรจุภัณฑ์ เช่น บรรจุภัณฑ์กันกระแทก ขึ้นรูปบรรจุภัณฑ์ต่างๆ บรรจุภัณฑ์ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เปราะบาง
  • กลุ่มอิเลคโทรนิคส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า เช่น หูฟัง ตลับหมึก เครื่องซักผ้า ลำโพง
คุณสมบัติที่สำคัญของ PU Foam

  • มีความยืดหยุ่นดี
  • มีน้ำหนักเบา
  • กันฉนวน
  • ดูดซับเสียง
  • ไม่ลามไฟ
  • แข็งแรง ทนทาน
  • รองรับน้ำหนักได้ดี



แหล่งที่มาของข้อมูล
http://www.chiaofuthai.com/
http://www.pufoaminsulation.com

วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

การขัดด้วยกระดาษทราย

การขัดไม้ด้วยกระดาษทรายนั้น อยู่ใน เกือบจะทุกตอนของการทำงานไม้และการทำงานสี ซึ่งหน้าที่หลักๆก็คือ การทำให้พื้นผิวชิ้นงานมันเรียบ ปราศจากเสี้ยนไม้

ลำดับของการขัดไม้

การขัดหยาบ (Leveling) > การขัดเรียบ (Uniforming) > การขัดละเอียด (Polishing)

การขัดหยาบ (Leveling) - เพื่อกำจัดจุดบกพร่องบนพื้นผิว ที่อาจจะเกิดจากเครื่องจักร หรือ เครื่องมือ , ปรับระดับไม้ให้เสมอกัน โดยในขั้นตอนนี้ จะใช้กระดาษทรายที่มีลักษณะหยาบ โดยถ้าร่องรอยบนไม้หยาบมาก ให้ใช้เบอร์ 80 แล้วจึงตาม ด้วยเบอร์ 120 , แต่ถ้ารอยนิดๆหน่อยๆ อาจจะใช้เบอร์ 120 ทีเดียวเลยก็ได้ 

การขัดเรียบ (Uniforming) - เป็นการลดริ้วรอยที่เกิดจากงานขัดหยาบในขั้นตอนแรก สำหรับงานที่ไม่ต้องการความละเอียดมาก ให้ใช้เบอร์ 180 แล้วค่อยขัดต่อด้วยเบอร์ 240

การขัดละเอียด (Polishing) - เป็นการขัดพื้นผิวให้เรียบ จนมองไม่เห็นรอยกระดาษทรายด้วยตาเปล่า นอกจากนี้อาจจะมีขนหรือเสี้ยนไม้แบบละเอียดที่ขัดไม่ออกจากขั้นตอนที่แล้ว ก็จะถูกขัดออกในขั้นตอนนี้ ให้ใช้เบอร์ 240 หรือ 280

การขัดผิวที่เคลือบสี - ให้ขัดด้วยเบอร์ 320 , 360 หรือ 400 ให้ลูบเบาๆ โดยไม่ต้องออกแรงกด จะช่วยให้เม็ดฝุ่นหรืออะไรก็ตามที่เกาะบนผิวหลุดออก ทำให้เรียบลื่น และ ไม่ทำให้สีถลอก 

จุดสำคัญของการขัด : การขัดให้ขัดตามลำดับ อย่าข้ามเบอร์ เพราะจะยิ่งทำให้เสียเวลา และ เปลืองกระดาษทราย

กระดาษทรายที่กล่าวมาจะเป็นแบบที่มีเบอร์ หลักร้อย ถึง หลักพัน แต่จะมีกระดาษทรายขัดไม้อีกประเภท ที่จะระบุเป็นเลข 0-5 โดยตัวเลขน้อยหมายถึงกระดาษทรายละเอียด ซึ่งก็จะมีวิธีการใช้งานที่คล้ายคลึงกันโดยต้องเลือกความละเอียด/หยาบ ของกระดาษทรายให้เหมาะกับงาน


สนับสนุนบทความ เรื่องงานไม้ จากร้าน มูมู่เฟอร์นิเจอร์

การย้อมผิวเนื้อไม้

การย้อมผิวเนื้อไม้ เป็นการเปลี่ยนสีชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์ของเราให้ตรงกับความต้องการ โดยชิ้นงานที่จะนำมาย้อม ต้องผ่านการขัดด้วยกระดาษเพื่อกำจัดเสี้ยน และให้ชิ้นงานเรียบลื่น เสียก่อน  (อ่านเพิ่ม เทคนิคการขัดชิ้นงานด้วยกระดาษทราย) หลังจากที่ขัดชิ้นงานจนเรียบแล้ว ใช้ผ้าถูดูความมันของไม้ว่ามีเพียงใด

เมื่อเสร็จจากการขัดเรียบร้อยแล้ว เราก็จะย้อมสีไม้ให้เป็นไปตามความต้องการของเรา ว่าต้องการให้ไม้มีสีอะไร

โดยการย้อมสีอาจจะใช้วิธีการ 3 วิธี ดังนี้
1. การย้อมสีโดยการใช้สีผสมกับแอลกอฮอลล์
2. การย้อมสีโดยการใช้น้ำมันผสม
3. การย้อมสีโดยการใช้น้ำธรรมดาผสม

สีที่จะใช้ย้อมอาจจะแบ่งได้ดังนี้

ก. สีย้อมที่เป็นเกล็ด เป็นสีย้อมผ้าต้องใช้เป็นสีชนิดดีไม่ตกได้โดยง่าย ใช้ผสมกับน้ำร้อนให้ละลาย ใช้ย้อมไม้ให้เป็นสีต่างๆได้ตามความต้องการ
ข. สีฝุ่นชนิดต่างๆ  ใช้ละลายกับน้ำมันแอลกอฮอล์ สามารถย้อมสีไม้ได้ดีกว่าวิธีอื่นมาก ถ้าจะให้มีคุณภาพดีติดไม้ไม่หลุดได้โดยง่าย ใช้ผสมกับชแลค คนให้ละลายและผสมแอลกอฮอล์ให้ใสๆ สามารถย้อมสีไม้ ได้คุณภาพดีมาก

สีที่นิยมย้อมไม้ อาทิ สีโอ๊ค สีประดู่ สีมะเกลือ ซึ่งก็สามารถทำได้โดยการผสมสีฝุ่นชนิดต่างๆเข้าด้วยกัน

การอุดเสี้ยนไม้

ธรรมชาติของไม้ย่อมมีรูเล็กๆ ต่างๆ เกิดขึ้นในเนื้อไม้ทั่วไป ดังนั้นก่อนทำการทาน้ำมันชนิดต่างๆ ควรอุดเสี้ยนไม้ให้หมดเสียก่อน การอุดเสี้ยนไม้เราสามารถทำโดยวิธีง่ายๆ คือ ใช้แป้งหรือดินสอพองผสมกับน้ำ ถ้าจะให้มีคุณภาพดี ควรใช้แป้งเปียกผสมกับน้ำมันสน ถ้าไม่มีน้ำมันสนอาจจะใช้น้ำมันก๊าดก็ได้ การผสมให้เหลวช่วยให้สามารถทาบนเนื้อไม้ได้ง่าย การทาอาจใช้แปรงขนกระต่ายจุ่มหรือจะใช้ผ้าชุบทาก็ได้

วิธีการทาแป้งเพื่ออุดรูบนเนื้อไม้

การทาควรทาในแนวขวางเสี้ยนไม้ โดยกดมือแรงๆให้แป้งอุดเข้าไปในเนื้อไม้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนอุดเสี้ยนทุกครั้ง ควรอุดหัวตะปูให้เรียบร้อยก่อน หรือ ถ้ามีตะปูโผล่ก็ให้ใช้เหล็กส่งตอกลงไปให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้นใช้ชแลคผสมกับดินสอพองหมาดๆ โดยเทคนิคคือให้อุดโป๊วบริเวณหัวตะปูให้สูงขึนมาพอสมควร เนื่องจากดินสองพองเวลาแห้งมันจะยุบตัว ถ้ามันยุบเยอะก็จะเสียเวลาต้องมาอุดใหม่
หลังจากอุดแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ โดยทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที ให้ดินสอพองหมาดๆ ใช้ผ้าสะอาดถูที่ไม้แรงๆ เพื่อให้ดินสอพองแทรกเข้าไปในรูไม้จนเต็มแน่น ปล่อยทิ้งไว้จนดินสอพองแข็งตัว จึงทำการขัดเรียบอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะขอบไม้ควรทำการตกแต่งให้เรียบร้อย ก่อนที่จะทาน้ำมันชักเงาและทำการตกแต่งด้วยวิธีต่างๆต่อไป


สนับสนุนบทความ เรื่องงานไม้ จากร้าน มูมู่เฟอร์นิเจอร์