วันพฤหัสบดีที่ 6 เมษายน พ.ศ. 2560

การขัดด้วยกระดาษทราย

การขัดไม้ด้วยกระดาษทรายนั้น อยู่ใน เกือบจะทุกตอนของการทำงานไม้และการทำงานสี ซึ่งหน้าที่หลักๆก็คือ การทำให้พื้นผิวชิ้นงานมันเรียบ ปราศจากเสี้ยนไม้

ลำดับของการขัดไม้

การขัดหยาบ (Leveling) > การขัดเรียบ (Uniforming) > การขัดละเอียด (Polishing)

การขัดหยาบ (Leveling) - เพื่อกำจัดจุดบกพร่องบนพื้นผิว ที่อาจจะเกิดจากเครื่องจักร หรือ เครื่องมือ , ปรับระดับไม้ให้เสมอกัน โดยในขั้นตอนนี้ จะใช้กระดาษทรายที่มีลักษณะหยาบ โดยถ้าร่องรอยบนไม้หยาบมาก ให้ใช้เบอร์ 80 แล้วจึงตาม ด้วยเบอร์ 120 , แต่ถ้ารอยนิดๆหน่อยๆ อาจจะใช้เบอร์ 120 ทีเดียวเลยก็ได้ 

การขัดเรียบ (Uniforming) - เป็นการลดริ้วรอยที่เกิดจากงานขัดหยาบในขั้นตอนแรก สำหรับงานที่ไม่ต้องการความละเอียดมาก ให้ใช้เบอร์ 180 แล้วค่อยขัดต่อด้วยเบอร์ 240

การขัดละเอียด (Polishing) - เป็นการขัดพื้นผิวให้เรียบ จนมองไม่เห็นรอยกระดาษทรายด้วยตาเปล่า นอกจากนี้อาจจะมีขนหรือเสี้ยนไม้แบบละเอียดที่ขัดไม่ออกจากขั้นตอนที่แล้ว ก็จะถูกขัดออกในขั้นตอนนี้ ให้ใช้เบอร์ 240 หรือ 280

การขัดผิวที่เคลือบสี - ให้ขัดด้วยเบอร์ 320 , 360 หรือ 400 ให้ลูบเบาๆ โดยไม่ต้องออกแรงกด จะช่วยให้เม็ดฝุ่นหรืออะไรก็ตามที่เกาะบนผิวหลุดออก ทำให้เรียบลื่น และ ไม่ทำให้สีถลอก 

จุดสำคัญของการขัด : การขัดให้ขัดตามลำดับ อย่าข้ามเบอร์ เพราะจะยิ่งทำให้เสียเวลา และ เปลืองกระดาษทราย

กระดาษทรายที่กล่าวมาจะเป็นแบบที่มีเบอร์ หลักร้อย ถึง หลักพัน แต่จะมีกระดาษทรายขัดไม้อีกประเภท ที่จะระบุเป็นเลข 0-5 โดยตัวเลขน้อยหมายถึงกระดาษทรายละเอียด ซึ่งก็จะมีวิธีการใช้งานที่คล้ายคลึงกันโดยต้องเลือกความละเอียด/หยาบ ของกระดาษทรายให้เหมาะกับงาน


สนับสนุนบทความ เรื่องงานไม้ จากร้าน มูมู่เฟอร์นิเจอร์

การย้อมผิวเนื้อไม้

การย้อมผิวเนื้อไม้ เป็นการเปลี่ยนสีชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์ของเราให้ตรงกับความต้องการ โดยชิ้นงานที่จะนำมาย้อม ต้องผ่านการขัดด้วยกระดาษเพื่อกำจัดเสี้ยน และให้ชิ้นงานเรียบลื่น เสียก่อน  (อ่านเพิ่ม เทคนิคการขัดชิ้นงานด้วยกระดาษทราย) หลังจากที่ขัดชิ้นงานจนเรียบแล้ว ใช้ผ้าถูดูความมันของไม้ว่ามีเพียงใด

เมื่อเสร็จจากการขัดเรียบร้อยแล้ว เราก็จะย้อมสีไม้ให้เป็นไปตามความต้องการของเรา ว่าต้องการให้ไม้มีสีอะไร

โดยการย้อมสีอาจจะใช้วิธีการ 3 วิธี ดังนี้
1. การย้อมสีโดยการใช้สีผสมกับแอลกอฮอลล์
2. การย้อมสีโดยการใช้น้ำมันผสม
3. การย้อมสีโดยการใช้น้ำธรรมดาผสม

สีที่จะใช้ย้อมอาจจะแบ่งได้ดังนี้

ก. สีย้อมที่เป็นเกล็ด เป็นสีย้อมผ้าต้องใช้เป็นสีชนิดดีไม่ตกได้โดยง่าย ใช้ผสมกับน้ำร้อนให้ละลาย ใช้ย้อมไม้ให้เป็นสีต่างๆได้ตามความต้องการ
ข. สีฝุ่นชนิดต่างๆ  ใช้ละลายกับน้ำมันแอลกอฮอล์ สามารถย้อมสีไม้ได้ดีกว่าวิธีอื่นมาก ถ้าจะให้มีคุณภาพดีติดไม้ไม่หลุดได้โดยง่าย ใช้ผสมกับชแลค คนให้ละลายและผสมแอลกอฮอล์ให้ใสๆ สามารถย้อมสีไม้ ได้คุณภาพดีมาก

สีที่นิยมย้อมไม้ อาทิ สีโอ๊ค สีประดู่ สีมะเกลือ ซึ่งก็สามารถทำได้โดยการผสมสีฝุ่นชนิดต่างๆเข้าด้วยกัน

การอุดเสี้ยนไม้

ธรรมชาติของไม้ย่อมมีรูเล็กๆ ต่างๆ เกิดขึ้นในเนื้อไม้ทั่วไป ดังนั้นก่อนทำการทาน้ำมันชนิดต่างๆ ควรอุดเสี้ยนไม้ให้หมดเสียก่อน การอุดเสี้ยนไม้เราสามารถทำโดยวิธีง่ายๆ คือ ใช้แป้งหรือดินสอพองผสมกับน้ำ ถ้าจะให้มีคุณภาพดี ควรใช้แป้งเปียกผสมกับน้ำมันสน ถ้าไม่มีน้ำมันสนอาจจะใช้น้ำมันก๊าดก็ได้ การผสมให้เหลวช่วยให้สามารถทาบนเนื้อไม้ได้ง่าย การทาอาจใช้แปรงขนกระต่ายจุ่มหรือจะใช้ผ้าชุบทาก็ได้

วิธีการทาแป้งเพื่ออุดรูบนเนื้อไม้

การทาควรทาในแนวขวางเสี้ยนไม้ โดยกดมือแรงๆให้แป้งอุดเข้าไปในเนื้อไม้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ ก่อนอุดเสี้ยนทุกครั้ง ควรอุดหัวตะปูให้เรียบร้อยก่อน หรือ ถ้ามีตะปูโผล่ก็ให้ใช้เหล็กส่งตอกลงไปให้เรียบร้อยเสียก่อน หลังจากนั้นใช้ชแลคผสมกับดินสอพองหมาดๆ โดยเทคนิคคือให้อุดโป๊วบริเวณหัวตะปูให้สูงขึนมาพอสมควร เนื่องจากดินสองพองเวลาแห้งมันจะยุบตัว ถ้ามันยุบเยอะก็จะเสียเวลาต้องมาอุดใหม่
หลังจากอุดแล้วก็ปล่อยทิ้งไว้ โดยทิ้งไว้ประมาณ 20 นาที ให้ดินสอพองหมาดๆ ใช้ผ้าสะอาดถูที่ไม้แรงๆ เพื่อให้ดินสอพองแทรกเข้าไปในรูไม้จนเต็มแน่น ปล่อยทิ้งไว้จนดินสอพองแข็งตัว จึงทำการขัดเรียบอีกครั้งหนึ่ง โดยเฉพาะขอบไม้ควรทำการตกแต่งให้เรียบร้อย ก่อนที่จะทาน้ำมันชักเงาและทำการตกแต่งด้วยวิธีต่างๆต่อไป


สนับสนุนบทความ เรื่องงานไม้ จากร้าน มูมู่เฟอร์นิเจอร์