วันเสาร์ที่ 28 มิถุนายน พ.ศ. 2557

การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio Analysis)



การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงิน (Ratio Analysis) 

เป็นการนำรายการต่างๆ ในงบการเงินมาเทียบอัตราส่วนเพื่อหาความสัมพันธ์ว่า มีความเหมาะสมเพียงใด การวิเคราะห์อัตราส่วนทางการเงินแบ่งตามวัตถุประสงค์ในการใช้งาน 4 ประการ
1. การวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity Ratio)
2. การวิเคราะห์ความสามารถในการหากำไร (Profitability Ratio)
3. การวิเคราะห์ความสามารถ (ประสิทธิภาพ) ในการดำเนินงาน (Efficiency Ratio)
4. การวิเคราะห์โครงสร้างของเงินทุนหรือภาระหนี้สิน (Leverage Ratio or Financial Policy Ratio)

1.การวิเคราะห์สภาพคล่องทางการเงิน (Liquidity Ratio) 
1.1 อัตราส่วนเงินทุนหมุนเวียนหรืออัตราส่วนสภาพคล่อง (Current Ratio)
อัตราส่วนทุนหมุนเวียน (Current Ratio) = สินทรัพย์หมุนเวียน (CA) /หนี้สินหมุนเวียน (CL)
วัดความสามารถในการชำระหนี้ระยะสั้น ถ้าค่าที่คำนวณได้สูงเท่าใด แสดงว่า บริษัทมีสินทรัพย์หมุนเวียนที่ประกอบไปด้วย เงินสด ลูกหนี้ และสินค้าคงเหลือมากกว่าหนี้ระยะสั้น ทำให้คล่องตัวในการชำระหนี้ระยะสั้นมีค่อนข้างมาก โดยปกติ อัตราส่วน 2 : 1 ถือว่าเหมาะสมแล้ว
1.2 อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio or Acid Test Ratio)
อัตราส่วนทุนหมุนเวียนเร็ว (Quick Ratio) = (สินทรัพย์หมุนเวียน – สินค้าคงเหลือ) /หนี้สินหมุนเวียน
หรือ( Quick Ratio = CA - Inventory )/CL
เป็นการวัดส่วนของสินทรัพย์ที่ได้หักค่าสินค้าคงเหลือ ที่เป็นสินทรัพย์ระยะสั้นและมีความคล่องตัวในการเปลี่ยนเป็นเงินสดได้ต่ำสุดออก เพื่อให้ทราบถึงสภาพคล่องที่แท้จริงของกิจการได้ โดยปกติอัตราส่วน 1 : 1 ถือว่าเหมาะสมแล้ว

1.3 อัตราการหมุนเวียนของลูกหนี้ (Account Receivable Turnover)
อัตราหมุนเวียนของลูกหนี้ (Account Receivable Turnover)
A/R Turnover = ขายเชื่อสุทธิ หรือใช้ยอดขายรวม (ครั้ง หรือ รอบ) /ลูกหนี้ถัว เฉลี่ย
ลูกหนี้ถัว เฉลี่ย = (ลูกหนี้ต้นงวด + ลูกหนี้ปลายงวด )/ 2
หากค่าที่คำนวณได้ มีค่าสูง แสดงถึงความสามารถในการบริหารลูกหนี้ให้แปลงสภาพเป็นเงินสดได้เร็ว

1.4 ระยะเวลาถัวเฉลี่ยในการเรียกเก็บหนี้ (Average Collection Period)
ระยะเวลาถัวเฉลี่ยในการเรียกเก็บหนี้ (Avg. Collection Period) (วัน) = 365 วัน /อัตราหมุนเวียนของลูกหนี้
ยิ่งต่ำยิ่งดี
แสดงให้เห็นถึงระยะเวลาในการเรียกเก็บหนี้ว่าสั้นหรือยาว เพื่อให้ทราบถึงคุณภาพของลูกหนี้
ประสิทธิภาพในการเรียกเก็บหนี้ และนโยบายในการให้สินเชื่อทางธุรกิจ

1.5 อัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover)
อัตราการหมุนเวียนของสินค้าคงเหลือ (Inventory Turnover) = ต้นทุนสินค้าขาย (COGS) /สินค้าคงเหลือเฉลี่ย (Avg. Inventory)
สินค้าคงเหลือเฉลี่ย =( สินค้าต้นงวด + สินค้าปลายงวด )/ 2
หากค่าคำนวณได้สูง ย่อมแสดงถึงความสามารถในการบริหารการขายสินค้าได้เร็ว

1.6 ระยะเวลาในการจำหน่าย (ขาย) สินค้า
ระยะเวลาในการจำหน่าย (ขาย) สินค้า(วัน) = 365 (วัน) /อัตราหมุนเวียนของสินค้า (Inventory Turnover)
ยิ่งขายได้เร็ว (ระยะเวลาสั้น) ยิ่งดี

2.ความสามารถในการหากำไร (Profitability Ratio) 
1.1 อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)
1.2 อัตรากำไรจากการดำเนินงาน (Operating Profit Margin)
1.3 อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)
1.4 อัตราผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (Return On Equity or ROE)

อัตรากำไรขั้นต้น (Gross Profit Margin)(%) = ขายสุทธิ - ต้นทุนขาย หรือ SALES - COGS / ขายสุทธิ SALES
= กำไรขั้นต้น หรือ Gross Profit /ขายสุทธิ SALES
ยิ่งสูงยิ่งดี

อัตรากำไรจากผลการดำเนินงาน(Operating Profit Margin)(%) = กำไรจากการดำเนินงาน(Operating Profit Margin) /ขายสุทธิ (SALES)
ยิ่งสูงยิ่งดี

อัตรากำไรสุทธิ (Net Profit Margin)(%) = กำไรสุทธิ (Net Profit) /ขายสุทธิ (SALES)
ยิ่งสูงยิ่งดี แสดงให้เห็นประสิทธิภาพในการดำเนินงานของบริษัทในการทำกำไร หลังจากหักต้นทุนค่าใช้จ่ายรวมทั้งภาษีเงินได้หมดแล้ว

ผลตอบแทนผู้ถือหุ้น (ROE %) = กำไรสุทธิ (Net Profit) /ส่วนของผู้ถือหุ้น (Equity)
ยิ่งสูงยิ่งดี แสดงให้เห็นว่าเงินลงทุนในส่วนของเจ้าของ จะได้รับผลตอบแทนกลับคืนมาจากการดำเนินการของกิจการนั้นในอัตราส่วนเท่าไร หากมีค่าสูง แสดงถึงประสิทธิภาพในการหากำไรสูงด้วย

Dupont Equation
ROE (%) = NP (or EAT) = (EAT/SALES) (SALES/ASSETS) (ASSETS/EQUITY) /Equity
หรือ ROE (%) =รายได้จากการขาย สินทรัพย์ทั้งหมด= กำไรสุทธิ X รายได้จากการขาย X สินทรัพย์ทั้งหมด / ส่วนของผู้ถือหุ้น
= (ความสามารถในการหากำไร) (การใช้เงินทุน) (ความสามารถในการหาทุน)
หรือ สมการนี้เท่ากับ
ROE (%) = (Net Profit Margin) (Total Asset Turnover) (Financial Leverage)

3. อัตราส่วนแสดงประสิทธิภาพในการทำงาน (Efficiency Ratio) 

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์รวม (ROA)(%) = กำไรสุทธิ (Net Profit) /สินทรัพย์รวม (Total Assets)
ยิ่งสูงยิ่งดี เป็นการวัดความสามารถในการทำกำไรของสินทรัพย์ทั้งหมดที่ธุรกิจใช้ในการดำเนินงาน ว่าให้ผลตอบแทนจากการดำเนินงานได้มากน้อยเพียงใด หากมีค่าสูง แสดงถึงการใช้สินทรัพย์อย่างมีประสิทธิภาพ

อัตราผลตอบแทนจากสินทรัพย์ถาวร (ROFA) = กำไรสุทธิ (Net Profit or NP) /รวมสินทรัพย์ถาวร (Fix Assets)
อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Turnover)
อัตราหมุนเวียนของสินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset Turnover)(ครั้ง) = ขายสุทธิ (SALES) /สินทรัพย์ถาวร (Fixed Asset)
ยิ่งสูงยิ่งดี

อัตราการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Assets Turnover)
อัตราส่วนการหมุนเวียนของสินทรัพย์รวม (Total Assets Turnover) (ครั้งหรือเท่า) = ขายสุทธิ (SALES) /สินทรัพย์รวม (Total Assets)

จำนวนครั้งสูง ดี เป็นอัตราส่วนที่แสดงถึงประสิทธิภาพในการใช้สินทรัพย์ทั้งหมด (TA) เมื่อเทียบกับยอดขาย (SALES) ถ้าอัตราส่วนนี้ต่ำ แสดงว่า บริษัทมีสินทรัพย์มากเกินความต้องการ

4. อัตราส่วนวิเคราะห์นโยบายทางการเงิน (Leverage Ratio or Financial Ratio) 

เพื่อให้ทราบถึงแหล่งที่มาของเงินทุนว่ามาจากหนี้สินหรือส่วนของเจ้าของ ว่ามีมากน้อยเพียงใด
อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (Debt/Equity Ratio) (เท่า) = หนี้สินรวม (Total Debt) /ส่วนของเจ้าของ (Equity)
ยิ่งต่ำ ยิ่งดี แสดงให้เห็นถึงความเสี่ยงในด้านเจ้าหนี้และเจ้าของกิจการ ถ้าอัตราส่วนสูง
แสดงว่า กิจการมีความเสี่ยงจากการกู้ยืมเงินมาใช้ในการดำเนินกิจการ

ความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ย (Interest Coverage) (เท่า) = {กำไรสุทธิ (NP) + ภาษีเงินได้ (Tax) - ดอกเบี้ยจ่าย(Interest)} /ดอกเบี้ยจ่าย (Interest)
เป็นการวัดความสามารถของธุรกิจในการจ่ายดอกเบี้ยเงินกู้ ผลคำนวณออกมามีค่าสูง แสดงว่าธุรกิจมีความสามารถในการจ่ายดอกเบี้ยสูง

อัตราการจ่ายเงินปันผล (Dividend Payout) = เงินปันผลต่อหุ้น (Dividend /share) /กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS)
แสดงถึงนโยบายการจ่ายเงินปันผลของธุรกิจ

อัตราส่วนที่กล่าวมาเป็นเครื่องมือในการวิเคราะห์หลักทรัพย์ด้วยปัจจัยพื้นฐาน เพื่อท่านจะได้พิจารณางบการเงินได้ในระดับหนึ่ง


สัญญาณเตือนภัยจากการวิเคราะห์งบการเงิน
1.ขาดทุนมากๆ และติดต่อกันหลายปี
2.ระยะเวลาการเก็บหนี้นานขึ้น
3.อัตราหนี้สินต่อส่วนของเจ้าของสูงขึ้นเร็วมาก
4.สินค้าคงคลังสูงมากผิดปกติ
5.ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น
6.ยอดขายสูงขึ้น แต่กำไรลดลง
7.หนี้สูญเพิ่มขึ้น
8.รายงานผู้สอบบัญชีผิดปกติ เปลี่ยนผู้สอบบัญชีใหม่
9.ขายสินทรัพย์ของบริษัท เพื่อสร้างกำไรให้เข้าเป้าในระยะสั้น

Growth Stock

หุ้นที่มีกำไรเติบโต (Growth Stock) นับว่าเป็นหุ้นที่ทำกำไรให้กับนักลงทุนดีที่สุดประเภทนึง เพราะหุ้นกลุ่มนี้นอกจากจะมีกำไรที่เติบโตขึ้นรวดเร็วแล้ว ตลาดมักจะให้ราคาหุ้นประเภทนี้สูงกว่าตลาดด้วย อย่างไรก็ตาม ก็ใช่ว่าทุก Growth Stock จะดีเหมือนกันทุกบริษัท หลายบริษัทที่ตอนแรกๆอาจจะดูเหมือนเป็น “หุ้นเติบโต” แต่พอเวลาผ่านไปกลับกลายเป็น “หุ้นติดดิน”

คำถามที่นักลงทุนทุกคนควรจะต้องถามคือ เราจะรู้ได้อย่างไรว่า Growth Stock ตัวไหนจะสามารถเติบโต “ได้จริง” อย่างมีคุณภาพ

ก่อนอื่นเราต้องเข้าใจถึงประเภทของการเติบโตก่อน ผมขอจับไว้เป็นคู่ๆเพื่อให้เข้าใจง่ายแล้วกันครับ

Volume Growth vs. Price Growth

ในบางธุรกิจที่มีอำนาจในการต่อรองราคาของบริษัทต่อลูกค้าสูง (High Negotiating Power) จะสามารถปรับราคาสินค้าขึ้นได้ทุกปี ตัวอย่างเช่นกลุ่มธุรกิจโรงพยาบาล ร้านสะดวกซื้อ การเติบโตจากการเพิ่มขึ้นของ “ราคา” สามารถทำได้ง่ายกว่าการเติบโตของ “ปริมาณการขาย” มากเพราะแทบจะไม่มีต้นทุนเพิ่มขึ้นเลย ในขณะที่การขยายกำลังการผลิตหรือการให้บริการต้องมีการลงทุนเพิ่มขึ้น อีกทั้งยังมีความเสี่ยงในการที่จะต้องหาลูกค้าเพิ่มขึ้นเพื่อมาซื้อสินค้่า


อย่างไรก็ตามการเติบโตจากการขึ้นราคาอาจจะมีข้อจำกัดจากเรื่องการแข่งขัน กฏหมายควบคุมราคา (เช่นในกรณีร้านสะดวกซื้อ) หลายบริษัทจึงใช้วิธีในการปรับ Product Mix เพื่อเพิ่มราคาสินค้าแทน เช่นธุรกิจโรงพยาบาลที่ มีการนำเสนอแผนการรักษาใหม่ๆ หรือเน้นการให้การรักษาในโรคร้ายแรงมากขึ้น ซึ่งจะทำให้ยอดค่าใช้จ่ายต่อคนสูงขึ้น

Industry Growth vs. Market Share Growth

ธุรกิจที่อยู่อุตสาหกรรมที่เติบโตเร็ว เช่นธุรกิจที่มี penetration rate ต่ำๆ และมีปัจจัยทางโครงสร้างเอื้อหนุน จะสามารถสร้างรายได้และกำไรให้เติบโตได้ง่ายกว่าธุรกิจที่เติบโตด้วยการแย่งส่วนแบ่งการตลาดจากคู่แข่งในอุตสาหกรรมที่เติบโตช้า เพราะในอุตสาหกรรมที่เติบโตเร็ว ความจำเป็นในการแข่งขันในด้านราคาจะมีน้อย อีกทั้งต้นทุนในการหาลูกค้ารายใหม่ๆถูกกว่า เพราะไม่ต้องแย่งลูกค้ากัน

ในทางตรงกันข้ามการที่บริษัทผลิตกระเบื้องแห่งหนึ่งมีแผนที่จะเพ่ิมส่วนแบ่งการตลาด 1% ทุกปี (ตลาดกระเบื้องเติบโตในระดับใกล้เคียงกับ GDP ซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำ) การเติบโตอาจจะทำได้จริงแต่อาจจะไม่ยั่งยืนเนื่องจากคู่แข่งรายอื่นๆก็จะไม่ปล่อยให้บริษัทถูกแย่งส่วนแบ่งการตลาดไป การแข่งขันจะรุนแรงยิ่งขึ้นถ้าอุตสาหกรรมนั้นๆเติบโตได้ช้า เพราะบริษัทต้องดิ้นรนมากขึ้นเพื่อที่จะเพิ่มยอดขายให้ทันกับค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นทุกๆปี อาจจะเกิดภาวะที่เรียกว่าสงครามราคา (Price War) ได้ ซึ่งจะมีผลแย่ต่อทุกบริษัทในอุตสาหกรรมนั้นๆ

One-off vs. Recurring

ธุรกิจที่เติบโตแบบครั้งเดียวจบ หมายถึงธุรกิจที่มีลักษณะการรับงานแบบเป็น Project มีสัญญาที่ระยะเวลาสั้นๆ งานที่ได้รับในปีนี้จะไม่ได้รับการการันตีอีกในปีหน้า (คือรับงานเป็นปีๆไป) มีจำนวนลูกค้าน้อยราย หรือ ปริมาณความต้องการของลูกค้ามีการเปลี่ยนแปลงบ่อย ตัวอย่างเช่น ธุรกิจรับเหมาก่อสร้าง ธุรกิจรับจ้างผลิตต่างๆ ธุรกิจในกลุ่มอุตสาหกรรมอิเล็กโทรนิกส์ เกษตร รถยนต์ โฆษณา เป็นต้น

สำหรับการเติบโตแบบยั่งยืน คือการเติบโตของกำไรที่ต่อยอดไปเรื่อยๆจากการขยายสาขา ขยายฐานลูกค้าที่มีสัญญาในระยะยาวกับบริษัท เช่นธุรกิจค้าปลีก ธุรกิจที่ขายสินค้าอุปโภคบริโภค (มีลูกค้าหลายแสนราย จึงมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้ยากกว่า)

Existing vs. New Business

ในปัจจุบันหลายธุรกิจในตลาดหลักทรัพย์ อยู่ใน Sunset Industry หรือธุรกิจที่กำลังตกต่ำ ฉะนั้นหลายบริษัทจึงพยายาม “แตกไลน์ธุรกิจ” ไปยังโอกาสใหม่ๆ ในการคาดการณ์การเติบโตของบริษัท นักลงทุนต้องมองให้ออกว่า แผนการเติบโตของบริษัทมากจากธุรกิจใด หลายครั้งที่ทางผู้บริหารอาจจะไม่ได้มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับตัวธุรกิจใหม่อย่างเพียงพอ (ไม่ใช่ไม่เก่งแต่อาจจะไม่มีประสบการณ์) ผู้บริหารจึงไม่สามารถคาดการณ์ถึงการแข่งขันที่อาจจะเกิดขึ้น รวมถึงถึงอุปสรรคต่างๆในการทำธุรกิจ จึงทำให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้

นอกจากการขยายไปยังธุรกิจใหม่แล้ว การขยายไปยังตลาดใหม่ๆก็นับว่ามีความเสี่ยงเช่นกัน หลายบริษัทเลือกที่จะขยายกิจการไปต่างประเทศ (โดยไม่ได้มีประสบการณ์ในประเทศนั้นๆมาก่อน) มักจะประสบกับปัญหาต่างๆ เช่น ความล่าช้าของการขอใบอนุญาต/การก่อสร้าง สินค้าไม่ถูกใจลูกค้าในประเทศนั้นๆ ซึ่งมักจะทำให้รายได้ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และมักจะมีผลขาดทุน

Small vs. Large

Peter Lynch เคยบอกไว้ว่าในระยะยาวแล้วหุ้นขนาดเล็กจะสามารถสร้างผลตอบแทนได้ดีกว่าหุ้นขนาดใหญ่เนื่องจากสามารถเติบโตได้ในอัตราที่สูงกว่าในระยะยาว เพราะฉะนั้นถ้าเราอยากจะหาหุ้นมีอัตราการเติบโตที่สูงอาจจะต้องหาจากบริษัทที่มีขนาดเล็ก (ทั้งในเชิงมูลค่าตลาด ยอดขาย ส่วนแบ่งการตลาด รวมถึงอัตราในการทำกำไร) ซึ่งจะมีโอกาสในการเติบมากกว่าบริษัทที่มีขนาดใหญ่กว่า อย่างไรก็ตามธุรกิจขนาดเล็กก็อาจจะมีความเสี่ยงมากกว่าธุรกิจที่ครองความเป็นเจ้าตลาดมาเป็นระยะเวลานาน

Top line vs. Bottom Line

ประเด็นนี้จะเป็นประเด็นที่นักลงทุนมักจะมองข้าม เพราะหลายๆครั้งการเติบโตของยอดขายต้องแลกมาด้วยการให้โปรโมชั่นเยอะๆ (ทำให้อัตรากำไรขั้นต้นลดลง) ค่าใช้จ่ายการตลาดที่เพิ่มขึ้น เงินลงทุนในเครื่องจักรหรือขยายสาขาใหม่ (ที่มาพร้อมค่าเสื่อมที่เพิ่มขึ้น) การที่ยอดขายเติบโตแต่กำไรไม่โตตามอาจจะเป็นเพราะบริษัทอยู่ในอุุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง คู่แข่งรายใหม่อาจจะอยากได้ส่วนแบ่งการตลาดโดยไม่สนใจภาพรวมของอุตสาหกรรม ตัวอย่างเช่น บริษัทสื่อสารที่ตัดสินใจลดราคา เพื่อดึงลูกค้าใหม่ๆ ทำให้มีผลต่อการปรับราคาของคู่แข่งรายอื่นๆ

เงินลงทุนก็เป็นประเด็นสำคัญ ฉะนั้นทุกครั้งที่ผู้บริหารเล่าถึงแผนที่จะขยายธุรกิจเราก็ต้องอย่าลืมที่จะถามถึงค่าใช้จ่ายหรือเงินลงทุนที่ต้องใช้ด้วย ถ้าเราอยากรู้ว่าเงินลงทุนอันนั้นจะมีผลต่อกำไรในอนาคตอย่างไร ก็ต้องประเมินว่าปรกติแล้วสินทรัพย์นั้นๆตัดค่าเสื่อมกี่ปี (ส่วนใหญ่ผู้บริหารจะตอบถ้าเราถาม) เราก็พอจะรู้คร่าวๆว่ากำไรที่ได้มาเพิ่มจะคุ้มค่ากับเงินลงทุนที่เพิ่มขึ้นในแต่ละปีหรือเปล่า

สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ…

การเติบโตของบริษัทล้วนแต่เป็นการ “คาดการณ์อนาคต” ซึ่งจะแม่นยำหรือไม่ต้องอาศัยปัจจัยหลายอย่าง แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้บริหารที่สามารถประเมินสถานการณ์ได้ตามความเป็นจริง สามารถ “ทำ” ได้เท่ากับที่ “พูด” ซึ่งการที่จะดูให้ได้อย่างนั้นเราต้องมองย้อนไปในอดีต ตัวอย่างเช่นบริษัทผลิตอาหารทะเลแห่งหนึ่งที่เคยบอกไว้ว่าจะมียอดขายหลายพันล้านเหรียญ ภายในปีนั้นปีนี้ แล้วทำได้ตรงตามที่สัญญาไว้ตลอด เรียกได้ว่าพูดคำไหนคำนั้น


credit : http://www.thaivi.org/หุ้น-เติบโต-หรือ-ติดด/